ที่มาและความสำคัญของโครงการ

    ภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าฝนเขตร้อน เป็นถิ่นกำเนิดและแหล่งพันธุกรรมพืชเขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพืชประเภทผักและไม้ผลทั้งที่เป็นพืชป่าและพืชปลูกหลากหลายชนิด พืชเหล่านี้มีบทบาทต่อความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มายาวนาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีภัยคุกคามต่อพรรณพืชเหล่านั้นทั้งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และภัยธรรมชาติ ทำให้ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้เอาไว้ไม่ให้สูญหายและปรับปรุงพัฒนาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชนและสังคมในปัจจุบันและอนาคตให้เกิดความยั่งยืน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ ภายใต้แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะ 5 ปีที่สาม (ตุลาคม พ.ศ. 2545 – กันยายน พ.ศ. 2549) โดยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ไว้ที่สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง พื้นที่ 45 ไร่ จำนวนมากกว่า 111 ชนิด การอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้เหล่านี้ให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพืชเหล่านั้นในชีวิตประจำวัน รู้จักรัก หวงแหน และเกิดแรงจูงใจที่จะร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ขึ้นมาให้ได้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้เสนอโครงการการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้แก่โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ภายใต้แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะ 5 ปีที่สี่ (ตุลาคม พ.ศ. 2549 – กันยายน พ.ศ. 2554) ต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
1 เพื่อจัดประชุม/ฝึกอบรม/สัมมนา ปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้แก่ชุมชน
2 เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้สู่ชุมชน
3 เพื่อจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆในการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้
4 เพื่อสร้างความร่วมมือกับโรงเรียน องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชนจัดกิจกรรมและสร้างงานการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้
วิธีการดำเนินงาน
1
จัดประชุม/ฝึกอบรม เพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้แก่ชุมชนรอบสถานีวิจัยคลองหอยโข่ง เพื่อขยายผลของโครงการอื่นๆ
2 จัดสัมมนาและทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ ซึ่งหายากให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลและสร้างเครือข่ายในภาคใต้
3 จัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ เช่น การแข่งแรลลี่ การแข่งขันทำอาหารจากผักพื้นบ้าน การจัดประกวดแปลงผักพื้นบ้านหายากระหว่างโรงเรียนในท้องถิ่น
4 จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของโครงการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ เช่นทำ website หนังสือภาพพันธุ์ไม้ และแผ่นพับ เป็นต้น
5 ร่วมมือกับโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ในพื้นที่เพื่อการศึกษาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ศึกษาลู่ทางการตลาดและความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของพืชดังกล่าว
ระยะเวลาและแผนการดำเนินงาน

    ระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2552

สถานที่ดำเนินการ

    โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนแปลงรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง และคณะทรัพยากรธรรมชาติ

กลุ่มเป้าหมาย

    เยาวชน ชุมชนรอบๆ สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง และประชาชนทั่วไป

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1 เยาวชน ชุมชนและประชาชน ตระหนักและเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้และช่วยกันรักษาเอาไว้ไม่ให้สูญหาย
2. ทำให้เกิดแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ที่ชุมชนเข้าไปท่องเที่ยว ศึกษาเรียนรู้ ที่สมบูรณ์แบบ
3. ก่อให้เกิดรายได้เสริมแก่ประชาชนในท้องถิ่น

ผู้ดำเนินการวิจัย

หัวหน้าโครงการ รศ.ดร.จิตผกา ธนปัญญารัชวงศ์
ภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้ร่วมโครงการ
รศ. ดร. อยุทธ์ นิสสภา
ภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผศ. ดร. ประวิตร โสภโณดร
ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผศ.ดร.ปราโมทย์ แก้ววงศ์ศรี
ภาควิชาธรณีศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หน่วยงานที่รับผิดชอบงานวิจัย

    คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา 90112


  ::หน้าหลัก
::ที่มาและความสำคัญของโครงการ
::วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
::วิธีดำเนินงาน
::ระยะเวลาการดำเนินงาน
::สถานที่ดำเนินการ
::กลุ่มเป้าหมาย
::ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
::ผู้รับผิดชอบโครงการ
::หน่วยงานที่รับผิดชอบ
::กิจกรรมโครงการ
::ติดต่อคณะทำงาน
::คลิปวีดีโอ