ศาสตราจารย์ ดร. วินัย ประลมพ์กาญจน์ อดีตอาจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มปฏิบัติราชการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะผู้มีคุณูปการต่อวงการแพะไทย ประเภทนักวิชาการอาวุโส ในการจัดประชุมวิชาการแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2566
ในอดีต ศาสตราจารย์ ดร. วินัย ประลมพ์กาญจน์ เริ่มทำวิจัยเกี่ยวสุกรและไก่กระทง เพราะได้ทำวิทยานิพนธ์ โดยใช้สัตว์กระเพาะเดี่ยวในขณะนั้น ในภาคใต้มีการเลี้ยงแพะในสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกันในภาคอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนไม่ถึงสองแสนตัว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจือ สุทธิวนิช ได้เอาฝูงแพะเข้ามาเลี้ยงในฟาร์มของภาควิชาสัตวศาสตร์ ต่อมาศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน ได้มาเป็นคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลีย โดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ได้มาช่วยเหลือในการพัฒนาคณะฯ ได้เลือกแพะเป็นหัวข้อหนึ่ง เพื่อจะพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คณบดีสุจินต์ ได้ขอให้ศาสตราจารย์ ดร. วินัย ประลมพ์กาญจน์ ช่วยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแพะ จึงเป็นจุดเปลี่ยน ขณะนั้นมีผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยและร่วมงานวิจัย คือ Dr. John Milton (ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย The University of Western Australia ประเทศออสเตรเลีย) และมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวางแผนการวิจัยและพัฒนา เช่น Associate Professor Dr. Barry Norton, Dr. Barrie Restall เป็นต้น
โอกาสดีที่ ศาสตราจารย์ ดร. วินัย ประลมพ์กาญจน์ ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ภายใต้อาจารย์ที่ปรึกษา คือ Associate Professor Dr. Barry Norton ซึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์ด้านอาหารแพะ หลังจากจบการศึกษา และได้มาปฏิบัติงานต่อ และได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ได้ทำงานวิจัยร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร. สมเกียรติ สายธนู รองศาสตราจารย์ น.สพ. สุรพล ชลดำรงค์กุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี และรองศาสตราจารย์ ดร.วันวิศาข์ งามผ่องใส ได้ช่วยการดูแลแพะทดลองและแพะในฟาร์มเป็นอย่างดี ทั้งในวิทยาเขตหาดใหญ่และสถานีวิจัยคลองหอยโข่ง ซึ่งเป็นฟาร์มที่พร้อมให้ศึกษาวิจัยด้านต่างๆ
สิ่งที่ดีใจที่สุด คณะทรัพยากรธรรมชาติ มีคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแพะมาอย่างต่อเนื่อง และมีความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการเกี่ยวกับแพะ ปัจจุบันภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ได้เสนอและรับงบประมาณของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง
การได้รับเกียรติในครั้งนี้ ขอขอบคุณคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้บริหารระหว่างการทำงาน เพื่อนคณาจารย์ที่ทำงานวิจัยร่วมกัน นักวิชาการสัตวบาล พนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพ่อแม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ ที่สนับสนุนและให้ความรู้และประสบการณ์ นำมาปฏิบัติงานได้อย่างดียิ่ง