About Us /

ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก

ตั้งอยู่ ณ สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง หมู่ที่ 5 ต.คลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ระยะทางห่างจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ประมาณ 32 กิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา

แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายในภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันความต้องการบริโภคเนื้อและนมแพะมีค่อนข้างมากทั้งในและต่างประเทศ แต่แพะเนื้อและแพะนมที่เลี้ยงอยู่ในประเทศยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้ผลผลิตทั้งเนื้อและนมมีราคาสูงกว่าสัตว์ประเภทอื่น จึงทำให้มีผู้สนใจเลี้ยงแพะในเชิงธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแพะเป็นปศุสัตว์ที่สามารถตอบสนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากแพะในประเทศยังไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้สาเหตุจากสภาพการเลี้ยง การจัดการ ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูงกว่าต่างประเทศ แต่หากมีการให้ความรู้ทางการจัดการฟาร์มแพะและการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสมจะสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตได้ในระยะยาว

ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ และถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้แก่นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ นอกจากนั้น ศูนย์ฯ ยังผลิตพันธุ์แพะที่ดีและเหมาะสมกับการเลี้ยงในระบบต่างๆ จำหน่ายให้เกษตรกร ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้ผลิตแพะลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์ต่างประเทศ ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงของเกษตรกรที่มีระบบการจัดการที่ต่างกัน มีทั้งที่มีระดับสายเลือดของแพะจากต่างประเทศสูงซึ่งเหมาะกับเกษตรกรที่มีความรู้และต้องการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลัก และระดับสายเลือดของแพะพันธุ์จากต่างประเทศต่ำซึ่งเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันศูนย์ฯ มีแผนขยายงานด้านการพัฒนาพันธุ์แพะเนื้อ โดยนำแพะเนื้อพันธุ์บอร์เข้ามาศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงเป็นแพะเนื้อลูกผสม 3 สายเลือด ตลอดจนศึกษาระดับสายเลือดที่เหมาะสมสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคใต้เลี้ยง นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีองค์ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่เริ่มจัดตั้งศูนย์ฯ มา มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในระดับนานาชาติ และระดับประเทศมากกว่า 80 เรื่อง โดยสรุปมีการวิจัยตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์แพะ อาหาร การจัดการคุณภาพซาก ตลอดจนการจัดการของเสียจากฟาร์มแพะ ซึ่งเป็นงานวิจัยการเลี้ยงแพะที่ครบวงจร และยังได้มีการถ่ายทอดผลการวิจัยเหล่านี้สู่เกษตรกรโดยผ่านทางการฝึกอบรม สัมมนา จัดแสดงในงานเกษตรภาคใต้ และจัดทำเอกสารทั้งที่เป็นหนังสือ ตำรา แผ่นพับ และคู่มือที่เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ

เพื่อให้ศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานที่ผลิตแพะพันธุ์ดี มีการทำวิจัยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนมอย่างต่อเนื่องสำหรับเกษตรกร และร่วมผลิตบัณฑิตให้กับคณะทรัพยากรธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์

ดำเนินการศึกษาและวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะอย่างต่อเนื่องทั้งด้านพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ อาหารและการจัดการ ลักษณะซาก และผลิตภัณฑ์จากแพะ
การจัดการของเสีย โรคและพยาธิ

1. ตีพิมพ์เผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
2. เผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้ สู่เกษตรกรโดยตรง หรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. ผลิตพันธุ์แพะที่เหมาะสม ในระบบการเลี้ยงที่แตกต่างกัน แล้วขยายไปสู่เกษตรกร
4. เป็นศูนย์ข้อมูล และเป็นแหล่งประสานงานระหว่างนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงแพะ ทั้งในและต่างประเทศ
5. สนับสนุนการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา
6. เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาคณะทรัพยากรธรรมชาติและสถาบันอื่นๆ ที่ประสงค์จะส่งนักศึกษามาฝึกงานด้านสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก